ประวัติโครงการชลประทานเลย

เมื่อ ปี พ.ศ.2478 ข้าหลวงประจำจังหวัดเลย หลวงวิวิธสุระการ ( นายถวิล เจียรมานพ) ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทานเสนอโครงการก่อสร้างทำนบปิดกั้นลำห้วยน้ำหมาน เพื่อช่วยเหลือการทำนาและการเพาะปลูกอื่นๆ ของราษฎรในเขตตัวเมืองเลย กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสม กำหนดจุดก่อสร้างฝาย ที่บ้านท่าแพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ห่างจากปากลำห้วยขึ้นไปด้านเหนือน้ำ 6.250 กม. ลักษณะเป็นฝายหินก่อ สันฝายยาว 45 ม. เริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวฝาย พ.ศ.2492 แล้วเสร็จ พ.ศ.2493 และก่อสร้าง ระบบส่งน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สายแล้วเสร็จ พ.ศ.2495 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ราคาค่า ก่อสร้างตัวฝาย 1,158,825 บาท ระบบส่งน้ำและที่ทำการบ้านพัก 1,438,643 บาท รวมค่าก่อสร้าง ทั้งหมด 2,597,468 บาท มีพื้นที่ชลประทาน 5,500 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเปิดฝายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2498 และเป็นฝายแห่งแรกที่กรมชลประทานสร้างขึ้นใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี พ.ศ.2527 ได้ตั้งเป็น “โครงการชลประทานเลย” ต่อมาในปี พ.ศ.2503 ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจราชการที่โครงการห้วยน้ำหมาน จ.เลย พบว่าโครงการนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุน จึงมีบัญชาให้กรมชลประทานพิจารณาแก้ไข กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานที่บ้านโป่งเบี้ย หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำหมาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย หัวงานเป็นเขื่อนดิน ยาว 668 ม.สูง 33 ม. อ่างเก็บน้ำมีความจุ 26.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ผิวน้ำ 1,540 ไร่ เริ่มก่อสร้าง พ.ศ.2530 แล้วเสร็จ พ.ศ.2533 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ราคาค่าก่อสร้าง 157 ล้านบาท